Return to ข้อมูลทั่วไป

คุณลักษณะเด็ก Gifted

โครงการพัฒนานักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ (2)

โดย รศ.เสารรัตน์  ภัทรฐิตินันท์ และ ผศ.ดร.ศศิธร จ่างภากร

ตามที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เริ่มจัดโครงการพัฒนานักเรียนที่มีความสามารถพิเศษขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในปีการศึกษา 2552  นั้น  บัดนี้  กระบวนการคัดเลือกนักเรียนเข้าร่วมโครงการได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว  และโรงเรียนใคร่ขอเรียนให้ทุกท่านทราบว่านักเรียนที่ไม่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าโครงการในระยะแรกนี้  นับว่าเป็นนักเรียนที่มีความสามารถสูงซึ่งมีศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาตนเองได้เป็นอย่างดีเช่นกัน  แต่เนื่องจากในการดำเนินการคัดเลือกนั้น  ถึงแม้โรงเรียนจะพยายามกำหนดวิธีการต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการเพียงใด    แต่ด้วยความจำกัดบางประการ ทำให้โรงเรียนจำเป็นต้องใช้เกณฑ์ที่เหมาะสมที่สุดเลือกนักเรียนเพียงกลุ่มหนึ่ง  ณ ช่วงเวลานี้ ให้เข้าร่วมโครงการก่อน สำหรับนักเรียนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการในปีการศึกษานี้  ยังคงมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมอื่น ๆ ที่โรงเรียนจัดให้  ซึ่งจะทำให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสที่จะพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพเช่นเดียวกัน

ฉบับนี้  ผู้เขียน  ขอเสนอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณลักษณะของเด็กที่มีความสามารถพิเศษ  ซึ่งผู้ปกครองอาจใช้ประกอบการสังเกตคุณลักษณะ  ลูก – หลานของท่าน เพื่อจะได้ส่งเสริมหรือพัฒนานักเรียนร่วมกับโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง

Professor Dr.George Betts ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเด็กที่มีความสามารถพิเศษ จาก University  of  Northern Coloradoได้กล่าวถึงคุณลักษณะ 12  ประการของเด็กที่มีความสามารถพิเศษ  จากเอกสารของ The National Research Center on Gifted and Talented.โดย Mary  Ruth Coleman, University  of  North  Carolina. สรุปได้  ดังนี้

คุณลักษณะที่ 1 : แรงจูงใจ(Motivation)
ตัวอย่างพฤติกรรมที่สังเกตได้ : มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้หรือมีความพยายามในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนบรรลุวัตถุประสงค์ของงาน แสวงหาความรู้หรือมุ่งหวังที่จะเป็นบุคคลในอาชีพหรืองานที่ตนเองสนใจ

คุณลักษณะที่ 2 : ความสนใจ (Interests)
ตัวอย่างพฤติกรรมที่สังเกตได้ : มีความสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างจริงจัง

คุณลักษณะที่ 3 : ทักษะในการสื่อสาร(Communication Skills)
ตัวอย่างพฤติกรรมที่สังเกตได้ : มีวิธีการสื่อสารที่ดีกว่าคนทั่วไป ทั้งในด้านการใช้ภาษา ไม่ใช้ภาษา  และสัญลักษณ์ต่าง ๆ

คุณลักษณะที่ 4 : ความสามารถในการแก้ปัญหา (Problem-Solving Ability)      
ตัวอย่างพฤติกรรมที่สังเกตได้ : มีระบบในการแก้ปัญหา หากเกิดอุปสรรคก็สามารถคิดหาแนวทางใหม่เพื่อแก้ปัญหานั้น ๆ ได้อย่างสร้างสรรค์

คุณลักษณะที่ 5 : ความจำ (Memory)
ตัวอย่างพฤติกรรมที่สังเกตได้ : มีความรู้ความจำเกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียนสามารถจดจำเรื่องราวหรือรายละเอียดของเหตุการณ์ต่างๆได้อย่างแม่นยำ

คุณลักษณะที่ 6 : ความอยากรู้อยากเห็นและเสาะแสวงหา (Inquiry /Curiosity)     
ตัวอย่างพฤติกรรมที่สังเกตได้ : ตั้งคำถามที่ซับซ้อนเหนือกว่าเด็กในวัยเดียวกัน มีความสามารถในการสืบค้นหรือสำรวจข้อมูลต่าง ๆ

คุณลักษณะที่ 7 : ความเข้าใจ อย่างลึกซึ้ง (Insight)
ตัวอย่างพฤติกรรมที่สังเกตได้ : เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ หรือบูรณาการความคิดและระเบียบต่าง ๆ ได้ดี

คุณลักษณะที่ 8 : ความมีเหตุผล (Reasoning)
ตัวอย่างพฤติกรรมที่สังเกตได้ : สามารถคิดอย่างมีวิจารณญาณ มองเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างทะลุปรุโปร่งให้คำตอบได้อย่างสมเหตุผลและนุ่มนวล

คุณลักษณะที่ 9 : จินตนาการ/ความคิดสร้างสรรค์ (Imagination/Creativity)
ตัวอย่างพฤติกรรมที่สังเกตได้ : มีความคิดแปลกใหม่  ช่างประดิษฐ์  เจ้าความคิด    มีความคิดที่ยืดหยุ่นในการแก้ปัญหาหรือเลือกใช้สิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน

คุณลักษณะที่ 10 : อารมณ์ขัน (Humor)
ตัวอย่างพฤติกรรมที่สังเกตได้ : อารมณ์ดี  มองโลกในแง่ดี  เป็นคนตลก

คุณลักษณะที่ 11 : เอาจริงเอาจัง (Intensity)   
ตัวอย่างพฤติกรรมที่สังเกตได้ : มีพลังอย่างแรงกล้า   มุ่งมั่นที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จ

คุณลักษณะที่ 12 : ไวต่อความรู้สึกของผู้อื่น(Sensitivity)     ตัวอย่างพฤติกรรมที่สังเกตได้ : มีความเมตตา กรุณา  เห็นอกเห็นใจผู้อื่น  ยุติธรรม
หากท่านผู้ปกครองหรืออาจารย์สังเกตเห็นนักเรียนในความปกครองของท่านได้แสดงคุณลักษณะดังที่กล่าวมานี้อย่างชัดเจนหลาย ๆ คุณลักษณะ  ท่านอาจลงความเห็นเบื้องต้นได้ว่านักเรียนอาจเป็นผู้ที่มีแววของความสามารถพิเศษ  ดังนั้นท่านผู้ปกครองหรืออาจารย์โปรดสนับสนุนให้นักเรียนเหล่านี้ได้มีโอกาสแสดงความสามารถของตนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับความสามารถและความสนใจของนักเรียน เพื่อให้นักเรียนเพิ่มพูนทักษะและศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ พร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญของครอบครัวและประเทศชาติต่อไปในอนาคต