โครงการเติมเต็มศักยภาพนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ
ผศ.ดร.ปรียา บุญญสิริ รศ.กิตติ พัฒนะตระกูลสุข รศ.เสารรัตน์ ภัทรฐิตินันท์
ระดับประถมศึกษา
โครงการ เติมเต็มศักยภาพนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษระดับประถมศึกษา ได้ดำเนินโครงการเกือบเสร็จสิ้นโครงการแล้ว โดยได้แบ่งกิจกรรมเป็นวิชาต่าง ๆ 5 วิชา คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ทัศนศิลป์และคอมพิวเตอร์ การจัดกิจกรรมสำหรับวิชาต่างๆ เน้นทักษะการคิด ซึ่งสามารถพัฒนานักเรียนได้ดีขึ้นเป็นลำดับ ดังนี้
วิชาคณิตศาสตร์ ฝึกทักษะการคิดและการแก้ปัญหา โดยเน้นกระบวนการคิดพร้อมทั้งแสดงวิธีคิดที่หลากหลาย จากการจัดกิจกรรมพบว่า นักเรียนได้พัฒนากระบวนการคิด สามารถแก้ปัญหาได้ดีขึ้น มีแนวคิดที่กว้างขวางและหลากหลาย นักเรียนกระตือรือร้นและสนุกกับการทำกิจกรรม เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่เน้นการลงมือปฏิบัติจริง และสามารถค้นพบองค์ความรู้ด้วยตนเอง สำหรับคณิตศาสตร์ ยังมีกิจกรรมค่ายในวันที่ 4 , 5 และ 8 มีนาคม 2553 ซึ่งเน้นกระบวนการทำงานเป็นกลุ่มและวงจรการทำงาน PDCA
วิชาวิทยาศาสตร์ ฝึกการทำโครงงานและการแก้ปัญหา โดยเน้นการทำงานเป็นกลุ่ม นักเรียนจะต้องหาหัวข้อโครงงานและปัญหาด้วยตนเอง แล้ววางแผนการสืบค้นความรู้ การค้นคว้าจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง แล้วทำการสืบค้นความรู้จนได้องค์ความรู้ ผลการจัดกิจกรรมพบว่า นักเรียนมีพัฒนาการด้านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ การสืบค้นความรู้ มีเจตคติที่ดีต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ นักเรียนส่วนใหญ่มีความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรม
วิชาภาษาอังกฤษ ฝึกทักษะการคิดโดยใช้กิจกรรมเกมและการออกเสียงภาษาอังกฤษอย่างถูกต้อง โดยใช้โปรแกรม Reading Companion มีการสืบค้นข้อมูลทางภาษาผ่านอินเทอร์เน็ตและมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เว็บไซท์ทางภาษาระหว่างนักเรียนด้วยกัน ผลการจัดกิจกรรมพบว่า นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรม มีการพัฒนาการอ่านจับใจความและคิดวิเคราะห์ดีขึ้น สำหรับกิจกรรมภาษาอังกฤษ จะมีค่ายอีกช่วงหนึ่ง ในวันที่ 5 และ 8 มีนาคม 2553 ซึ่งเน้นการฝึกทักษะทางภาษากับเจ้าของภาษาโดยตรง และฝึกการสร้าง e-Book ด้วยตนเอง
วิชาทัศนศิลป์ ฝึกให้นักเรียนได้เรียนรู้หลักการเขียนภาพ การใช้สีแงะองค์ประกอบภาพ เมื่อนักเรียนได้หลักการทางทัศนศิลป์แล้ว ช่วงสุดท้ายให้นักเรียนคิดสร้างชิ้นงานด้วยตนเองตามความสนใจและความคิดสร้าง สรรค์ของแต่ละบุคคล ผลการจัดกิจกรรมพบว่า นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรมโดยเฉพาะนักเรียนหญิง มีความสนใจทำกิจกรรมและมีผลงานดีมาก
วิชาคอมพิวเตอร์ ฝึกให้นักเรียนมีทักษะทางคอมพิวเตอร์เรื่องการใช้โปรแกรม การใช้อินเทอร์เน็ตและระบบคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการสร้างชิ้นงานโดยใช้กราฟิกแอนิเมชั่น และสร้างบล็อกของตนเองบนอินเทอร์เน็ต ผลการจัดกิจกรรมพบว่า นักเรียนมีความกระตือรือร้นและชอบทำกิจกรรมโดยมาเรียนทุกครั้ง ถ้าวันใดมีธุระมาไม่ได้ จะขอทำกิจกรรมชดเชยเสมอ นอกจากนี้นักเรียนมีการพัฒนาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และทักษะ การใช้อินเทอร์เน็ต และการใช้โปรแกรมสำหรับกิจกรรมคอมพิวเตอร์จะมีค่ายอีกช่วงหนึ่ง ในวันที่ 4 , 5 และ 8 มีนาคม 2553 ซึ่งเข้าค่ายร่วมกับค่ายคณิตศาสตร์ โดยเน้นกระบวนการทำงานเป็นกลุ่มและวงการการทำงาน PDCA
จะเห็นได้ว่าใน ระดับประถมศึกษา การจัดกิจกรรมจะเน้นการฝึกทักษะต่าง ๆ โดยเฉพาะทักษะการคิดและการแก้ปัญหา เพื่อให้นักเรียนมีทักษะที่เป็นพื้นฐานในการคิดสร้างงานต่อไป และกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดให้แก่นักเรียนนั้น สามารถพัฒนาทักษะการคิด การแก้ปัญหาและกระบวนการในการทำงานได้เป็นอย่างดี เป็นการเติมเต็มศักยภาพของนักเรียนให้สมบูรณ์ขึ้น
ระดับมัธยมศึกษา
จาก การที่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการเติมเต็มศักยภาพนักเรียน ที่มีความสามารถพิเศษ ได้เข้าร่วมกิจกรรมในระยะที่ 1 ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในสารสาธิตเกษตรสัมพันธ์ ฉบับที่ 3 นั้น จากการประเมินเบื้องต้นโดยการสอบถามนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา ผลปรากฏโดยสรุปดังนี้
ประโยชน์ที่นักเรียนได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ
(1)ทักษะการคิดแบบต่าง ๆ ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ มากกว่าการเรียนตามรายวิชา
(2) การวางแผนการทำงานและการทำงานอย่างเป็นระบบ
(3) การนำเสนอความคิดและการรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น
(4) การเสียสละและเห็นแก่ส่วนรวม
(5) การสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างผลงาน
(6) การเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น
(7) การได้ทำงานร่วมกับผู้อื่น
สิ่งที่นักเรียนคิดว่าตนเองเกิดการเปลี่ยนแปลง
(1) การคิดอย่างมีระบบ มีเหตุผล การคิดวิเคราะห์
(2) การตัดสินใจได้ด้วยตนเอง
(3) ความกล้าในการเสนอความคิดนอกกรอก กล้าแสดงออกมากขึ้น
(4) การแก้ปัญหาได้ มีวิธีแก้ปัญหาได้หลายวิธีและมองปัญหาเป็นโอกาสในการสร้างแรงบันดาลใจ
(5) การจินตนาการและการคิดสร้างสรรค์
(6) ความชัดเจนในการค้นพับตัวเอง
(7) การเกิดมุมมองใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาและการดำเนินชีวิต
(8) การค้นหาแหล่งเรียนรู้
(9) ความเชื่อมั่นในความสามารถและศักยภาพของตนเองในการคิดงานใหม่ ๆ
สิ่งที่นักเรียนต้องการรู้เพิ่มเติม
(1) วิธีสร้างผลงานที่ตัวเองคิดขึ้นมาให้เป็นจริง
(2) ความรู้ทางวิชาการและความรู้เกี่ยวกับงานที่จะสร้าง เช่น การหล่อพลาสติก , sensor , หลักจิตวิทยา , อิเล็กทรอนิกส์
(3) การพบผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
(4) นักเรียนเป็นนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษจริงหรือไม่ ด้านใด
(5) รายละเอียดของโครงการ
ข้อเสนอแนะ
(1) เพิ่มเนื้อหาวิชาการที่เป็นรูปธรรมและหลากหลายสาขา
(2) แสดงจุดประสงค์และแนวทางของโครงการให้ชัดเจนขึ้น
(3) ปรับเปลี่ยนวิธีการบางส่วนให้เหมาะสมกับบริบทของนักเรียนโรงเรียนสาธิต อาจจะจัดกิจกรรมเป็นแรลลี่ เป็นต้น
(4) ปรับเปลี่ยนแปลงทัศนศึกษาหรือแหล่งเรียนรู้ภายนอกโรงเรียน
(5) เพิ่มปริมาณอาจารย์ผู้ดูแลโครงการ
(6) แยกระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย
(7) นำตัวอย่างโครงการต่าง ๆ มาให้ดูเป็นตัวอย่าง
(8) จัดหาอุปกรณ์ให้พร้อม ควรมีโต๊ะ เก้าอี้ กระดานให้เขียน
(9) เพิ่มเติมกิจกรรมและการทำโครงการในช่วงเย็น
(10) เชิญวิทยากรที่มีความคิดแปลกใหม่มาบรรยายเพิ่มเติม
(11) ศึกษาดูงานต่างประเทศ
(12) วิธีการคัดเลือกนักเรียนโดยการทดสอบ IQ อาจไม่ได้นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษจริงๆ